Kill Bill


ฉันไม่เคยดูภาพยนตร์จากผลงานการกำกับของ Quentin Tarantino มาก่อน แม้กระทั่งเมื่อเดินเข้าโรงหนังเพื่อไปชม Kill Bill: Volume 1 ประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว ฉันก็ยังคงไม่รู้จักผู้กำกับชาวอเมริกันคนนี้แต่อย่างใด

ทว่า เมื่อนั่งชมเรื่องราวของ The Bride (รับบทโดย Uma Thurman) ได้เห็นฉากการต่อสู้ ปะทะกันระหว่างนางเอกกับเหล่าศัตรูในแบบเลือดพุ่ง สาดกระจายเต็มพื้น ทำให้ฉันได้แต่นั่งอ้าปากหวอ ตาค้างในความมืดด้วยความตะลึงกับภาพเหล่านั้น

Quentin Tarantino เป็นผู้กำกับที่ใช้เลือด (ปลอม) เปลืองมากจริงๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับความสามารถในการสร้างเรื่องราวดึงดูดความสนใจผู้ชมของเขา อ้อ! จริงสิ ผู้กำกับคนนี้น่ะ มี sense ในการเลือกเพลงประกอบภาพยนตร์ดีซะด้วยนะ

ฉากที่ Elle Driver (Daryl Hannah) แฝงตัวเข้ามาในโรงพยาบาลที่นางเอกรักษาตัวอยู่ ภาพของนางพยาบาลสาวสูงยาวเข่าดี สวมเครื่องแบบสีขาว ในลุคปิดตาหนึ่งข้าง เดินถือถาดเข็มฉีดยา ดูสวยอันตราย น่าประหวั่นในความรู้สึกยิ่งนัก

เมื่อเธอออกเดิน พร้อมกับผิวปากเป็นท่วงทำนองเพลงที่สุดแสนจะสำราญเบิกบานใจ มันทำให้ผู้ชมอย่างฉันนึกกลัวแทนนางเอกขึ้นมาทันที (เผื่อใครอยากรู้ เพลงที่ Elle Driver ผิวปากน่ะ มาจากบทเพลงในภาพยนตร์ Twisted Nerve)

นอกจากความเลือดพุ่ง ฉากต่อสู้อันดุเดือด ภาพยนตร์ผลงานการกำกับของ Quentin ยังแฝงไว้ซึ่งอารมณ์เสียดสีเอาไว้ให้ได้เจ็บๆ คันๆ

ยกตัวอย่างเช่น ฉากการปรากฏตัวของ O-Ren Ishii (Lucy Liu) หนึ่งในสมาชิก Deadly Viper Assassination Squad พร้อมผู้ช่วยสาว Sofie Fatale (Julie Dreyfus) ในฉากดังกล่าว มันออกจะขัดความรู้สึกนิดๆ ก็ตรงที่ผู้ช่วยหน้าฝรั่ง แต่สื่อสารด้วยภาษาญี่ปุ่นได้อย่างฉะฉาน ในขณะที่ตัวนายสาวชาวญี่ปุ่นนั้น กลับนั่งสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ

หรือจะเป็นฉากที่ The Bride จดจำความหลังเกี่ยวกับ Sofie ได้ ในตอนที่ได้ยินริงโทนทำนองเพลง Auld Lang Syne จากโทรศัพท์มือถือของผู้ช่วยสาว ดังออกมาขณะที่รถกำลังจอดติดไฟแดงอยู่กลางสี่แยก

เหอะๆ เป็นความประชดประชันอะไรเช่นนี้ ‘สามัคคีชุมนุม’ เพลงแห่งความสมัครสมานรวมใจเป็นหนึ่ง กลับกลายเป็น ‘สามัคคีไฟรุม’ ที่โหมเพลิงแห่งความแค้นให้ยิ่งระอุขึ้นกลางสี่แยกในทันใด

พูดถึงฉากการต่อสู้ โอย...นี่ก็มันส์ ดุเดือด ไม่แพ้กัน

Kill Bill: Volume 1 มีทั้งการต่อสู้กันระหว่าง The Bride และ Gogo Yubari เด็กสาวญี่ปุ่นวัยมัธยมที่พกพาความเหี้ยมโหด ไร้ซึ่งโนเนะทั้งปวง ผู้ทำหน้าที่บอดีการ์ดให้กับ O-Ren Ishii ฉากปะทะกันระหว่างทั้งคู่ จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายนางเอก ดูแล้วมันสะใจฉันจริงๆ (ซาดิสม์นะแก)

สำหรับการดวลกันระหว่าง The Bride และ O-Ren Ishii เป็นไปด้วยความสงบและเย็นเยียบ ส่วนที่สร้างความเร้าใจ ตื่นเต้นให้กับฉัน เห็นจะเป็นเสียงกระบวยตักน้ำในสวนญี่ปุ่นที่ดังกระทบพื้นเป็นจังหวะ ประมาณว่าลุ้นอยู่ไง ผสมกับความสงสัยว่าต้องฟังเสียงกระบวยตักน้ำนี่อีกกี่ครั้ง เขาถึงจะสู้กัน

เมื่อ The Bride แกว่งไกวดาบ จุดจบในฉากนั้น มันมีทั้งความอึ้ง การยอมรับ และอารมณ์หน่วงในจิตใจ

ตามมาด้วยภาคต่อ Kill Bill: Volume 2 ในภาคนี้ ฉันรู้สึกสงสาร The Bride มากในฉากการต่อสู้กับ Budd (Michael Madsen) ศัตรูลำดับที่ 3 ผู้เป็นน้องชายของ Bill

พี่แกโหดมาก ยิงปืนใส่นางเอกแบบไม่ให้ตั้งตัวกันเลยทีเดียว เห็นแล้วเจ็บแทน (ไม่ต้องไปเจ็บแทนเค้า แกไม่มีนม คงไม่เจ็บแบบเค้าหรอกน่า) ไหนจะซีนที่นางเอกต้องเอาตัวรอดจากการถูกฝังทั้งเป็นในโลงอีกล่ะ อึด ถึก ทนกว่านี้ ไม่มีอีกแล้ว

ในภาค 2 นี้ ผู้ชมจะได้ทราบถึงความเป็นมาของ The Bride มากยิ่งขึ้น กว่าจะเก่งจนเข้าขั้นเป็นนักฆ่าได้เนี่ย ต้องผ่านการฝึกอย่างหนักหน่วงกับอาจารย์ Pai Mei (Gordon Liu) ฝึกอย่างโหด เห็นแล้วเจ็บมือแทน ดูแล้วน่าทรมานเหลือหลาย

สิ่งที่ตลกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับปรมาจารย์ Pai Mei ก็คือ ฉันเพิ่งจะรับรู้ในภายหลังว่า นอกจากจะรับบทท่านปรมาจารย์แล้ว เขายังสวมบทบาทหัวหน้าแก๊งยากูซ่า The Crazy 88 ที่โดนนางเอกตีแตกกระเจิงไปซะหมดเรียบร้อยในภาคแรก เออ...ตอนดูเนี่ย ไม่ได้รู้เลยว่าเป็นคนเดียวกัน

ลำดับสุดท้ายของเรื่องราวทั้งหมด คือ Bill ศัตรูอันดับหนึ่งของ The Bride ความพีคอยู่ที่ฉากการประจันหน้ากันของทั้งคู่บนโต๊ะในสวนหลังบ้าน  และฤทธิ์เดชของ Five Point Palm Exploding Heart Technique จากท่านอาจารย์ Pai Mei

อารมณ์นั้น ฉันเข้าใจความรู้สึกของ The Bride หรือ Beatrix Kiddo เลยว่า เธอต้องทำในสิ่งที่ต้องทำ เรียบง่ายแบบนั้นแหละ ไม่มีอะไรซับซ้อน

เออ! จริงสิ ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ ต้องนี่เลย ชุดรัดรูปสีเหลืองคาดดำ พร้อมรองเท้า Onitsuka Tiger เหลือง-ดำ เข้าชุดกันเป็นอย่างยิ่ง ต้องบอกว่าสีสันสดใสของเสื้อผ้า มันก็พอจะช่วยลดทอนภาพความรุนแรง ขณะรับชมภาพยนตร์ได้บ้างหน่อยนึง

ผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว แต่ภาพของ The Bride ในชุดสีเหลืองจัดจ้า เหมือนจะยังคงส่องสว่าง เปล่งประกายอยู่เลย (นี่ขนาดยังไม่ได้พูดถึงภาพเลือดกระจุยกระจายนะ)

ต้องบอกว่า Quentin Tarantino สร้างภาพยนตร์ได้น่าประทับใจ เกินความคาดหมายของฉันไปมาก จากคนที่ไม่เคยรู้จัก ไม่คุ้นเคยกับชื่อเสียงเรียงนามของเขามาก่อน แต่เมื่อดูหนังภาคแรกจบ ชื่อของเขาก็ถูกบันทึกไว้ในคลังสมองของฉันในแบบติดแน่น ทนนาน

ดุเดือด เลือดพล่าน เพลงประกอบเจ๋ง นั่นเลย Quentin Tarantino

Source
ภาพประกอบ: Photo by MESSALA CIULLA from Pexels

Comments