สมัยอยู่มัธยมต้น เหมือนจะจำได้อย่างเลือนรางว่าเคยมีชั่วโมงเรียนหนึ่งที่เรียกว่า คาบกิจกรรม โดยนักเรียนสามารถเลือกเข้ากิจกรรมที่ตนเองมีความสนใจ อย่างเช่น ชมรมคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น
แน่นอนว่าเด็กขี้เกียจอย่างฉัน ไม่ได้เลือกเข้าร่วมสามชมรมข้างต้นแต่อย่างใด แหม...แค่เรียนในคาบเรียนปกติก็น่าจะหนักหนาพอแล้วล่ะ สงสารสมองตัวเอง พักหน่อยดีกว่า ดังนั้น ชมรมที่ดึงดูดใจฉันเป็นอย่างยิ่ง คือ ชมรมห้องสมุด
สำหรับเหตุผลที่เลือกเข้าร่วมชมรมนี้ เพราะห้องสมุดเป็นสถานที่เงียบสงบ แวดล้อมไปด้วยหนังสือมากมาย หลากหลายประเภท อืม...เงียบและหนังสือเยอะ แค่สองเหตุผลนี้ก็เพียงพอสำหรับฉันแล้ว
กิจกรรมที่นักเรียนในชมรมมีหน้าที่รับผิดชอบ จะเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น เอาหนังสือที่ผู้ยืมนำมาคืน กลับไปวางยังชั้นหนังสือดังเดิม ซึ่งมีการจัดระบบ แยกประเภทหนังสือเอาไว้อย่างเรียบร้อย โดยจัดเก็บตามหมวดหมู่ตัวอักษรและตัวเลขที่ทางบรรณารักษ์เป็นผู้กำหนด
ความรู้หนึ่งอย่างที่ฉันได้จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมห้องสมุด นั่นก็คือการได้ทราบถึงวิธีการจัดการกับบรรดาหนังสือของคุณครูบรรณารักษ์ โดยคุณครูได้อธิบายให้นักเรียนฟังว่า ในทุกครั้งที่ได้รับหนังสือใหม่เข้าห้องสมุด ครูจะต้องนำตราประทับของโรงเรียน มาปั๊มลงบนหน้ากระดาษในหนังสือ
การจะประทับตราลงหนังสือแต่ละเล่มนั้น ใช่ว่าจะปั๊มลงหน้าไหนก็ได้ตามใจชอบ หากแต่จะต้องปั๊มลงบนหน้ากระดาษ ซึ่งเป็นเลขหน้าที่ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว อย่างเช่น ห้องสมุดโรงเรียนฉัน จะประทับตราไว้บนหน้าที่ ๒๗
ยังจำได้ว่า เมื่อจบคาบกิจกรรมในวันนั้นแล้ว ฉันก็รีบหยิบหนังสือเล่มที่อยู่ใกล้มือที่สุด เปิดไปที่หน้า ๒๗ เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่คุณครูบอกนั้น จริงหรือไม่
จบเล่มหนึ่ง ก็ไปต่ออีกเล่ม เปิดหนังสือดูด้วยความตื่นเต้น ราวกับตัวเองได้ล่วงรู้ความลับอันยิ่งใหญ่แห่งจักรวาลเลยทีเดียว
ไม่ต้องปวดหัวกับโจทย์เลข ไม่ต้องท่องศัพท์ภาษาอังกฤษ ไม่ต้องเจอกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์อันวุ่นวาย แค่ได้ตระเวนเปิดหนังสือ พิสูจน์ความลับแห่งห้องสมุด เท่านั้นก็ทำให้ฉันเพลินและสนุกมากแล้ว
เอ...ว่าแต่การเป็นสมาชิกชมรมห้องสมุดในวัยเด็ก มันจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหล่ากองดองที่หมักเอาไว้นานปีในตอนโตบ้างหรือไม่หนอ
ไม่ต้องรอใครมาตอบหรอก ตอบเองซะเลย มันไม่เกี่ยวกันเฟร้ย!
Source
ภาพประกอบ: Photo by cottonbro from Pexels
Comments
Post a Comment