Duets


ในบรรดาเพลงจำนวนมากที่ได้ฟัง มีอยู่สองบทเพลงที่ฉันเคยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเพลงที่ร้องโดยนักร้องคนเดียว ซึ่งอันที่จริงแล้ว มันคือการร้องคู่กันโดยนักร้องสองคนต่างหาก ส่วนจะเป็นเพลงอะไรบ้างนั้น เชิญติดตามอ่านกันได้เลย

มาเริ่มที่บทเพลงแรกแห่งความเข้าใจผิด เพลงนี้มีชื่อว่า Sometimes Love Just Ain’t Enough ของ Patty Smyth เป็นเพลงดังในยุค 90 อีกหนึ่งเพลงในความทรงจำ ตอนนั้นยังเป็นเด็กน้อยอยู่ แต่ก็พอจำได้ว่าได้ยินเพลงนี้ถูกเปิดตามวิทยุบ่อยมาก

ฉันคาดว่าที่มาของความเข้าใจผิด ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะความเป็นเด็กเนี่ยแหละ ทำให้อาจจะไม่ทันสังเกตถึงน้ำเสียงที่แตกต่างของนักร้องในเพลงว่าไม่ได้มีเพียง Patty Smyth เท่านั้นนะที่เป็นคนขับร้องเพลงนี้ แต่ยังมี Don Henley มือกลองและนักร้องวงร็อก Eagles มาร่วมแจมด้วย

หากคุณเป็นคนรุ่นเดียวกับฉัน (นั่นก็คือรุ่นย่างเข้าสู่วัยดึก ดึกอะไรของแก อ๋อ...ดึกดำบรรพ์ไง ผ่าง!) จะต้องรู้จักมือกลองคนนี้แน่ๆ เพราะเขาเป็นคนขับร้องสองเพลงดังของวงอย่าง Desperado และ Hotel California ไงล่ะ

นอกเรื่องเล็กน้อย พูดถึงเพลง Desperado แล้ว ทำให้ฉันนึกถึงหนังสือนิยายเรื่องหนึ่งที่เคยอ่านและชอบมากชื่อว่า “อาชญากรยอดรัก Desperado” แต่งโดย ฟองคลื่น คืนจันทร์ พันดาว สิ่งที่ทำให้คิดถึงนิยายเรื่องนี้ เพราะฉันติดใจพระเอก (ว่าไงนะ! ไม่เกี่ยวกันเหรอ)

โอเคๆ สติจงมาอยู่กับตัว เก็บความบ้าผู้ชายของแกไปก่อน เหตุผลที่ทำให้คิดถึงหนังสือเล่มนี้ ก็เพราะมีการใช้บทเพลง Desperado เนี่ยแหละ เป็นแก่นหลักของเรื่องราว

ตัวเรื่องจะเกี่ยวกับพระเอก “ภูผา” และนางเอก “อัปสร” ซึ่งต่างก็ต้องสูญเสียพ่อแม่ของตนเองไปจากเหตุการณ์เครื่องบินระเบิด ที่น่าตกใจไปกว่านั้นก็คือเครื่องบินที่ว่าเป็นเครื่องบินลำเดียวกันด้วยน่ะสิ พระเอกน่ะ ฉันชอบอยู่แล้ว ส่วนนางเอก ฉันก็ประทับใจ เรียกว่าชอบตั้งแต่ชื่อของเธอกันเลยทีเดียว

อัปสร ชื่อของนางเอกนั้น แปลว่า นางฟ้า ซึ่งมันก็เข้ากันกับอาชีพแอร์โฮสเตสของเธอนั่นแหละ สิ่งที่ประทับใจอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อได้รู้เหตุผลแท้จริงที่เธอเลือกจะเป็นแอร์นั้น ยิ่งตื้นตันเข้าไปใหญ่ แทบจะเป็นคนละขั้วกับสิ่งที่พระเอกรู้สึกเวลาต้องนั่งเครื่องบินเลยทีเดียว

อ้าว แล้วทั้งคู่มารักกันได้ยังไงล่ะ นั่นสินะ อยากรู้ก็ไปหาอ่านกันต่อเองดีกว่า ฉันล่ะไม่อยากจะสปอยล์ เดี๋ยวจะเสียอรรถรส จะบอกว่า ก่อนหน้านี้น่ะ หนังสือเรื่องนี้หายากมาก (ก.ไก่ยาวแปดล้านตัว) แต่นักเขียนได้ตัดสินใจพิมพ์อีกรอบ ทำให้ตอนนี้ทุกคนสามารถหาเรื่องนี้มาอ่านได้สบายแล้วล่ะ ใครอยากรู้ว่าเรื่องราวของคุณภูกับนางฟ้าอย่างสาวปุ๊กจะเป็นอย่างไร ลองไปซื้อมาอ่านกันสิ แล้วคุณจะติดใจ

เอาล่ะ จบการโฆษณาหนังสือนิยายในดวงใจไปแล้ว กลับมาต่อกันที่เพลงแห่งความเข้าใจผิดเพลงที่สองกันดีกว่า เพลงนี้ก็คือ “Just Give Me a Reason” จาก Pink นักร้องหญิงชาวอเมริกันมาดเท่

เพลงนี้น่ะ จะเอาความเป็นเด็กมาอ้างว่าเป็นสาเหตุแห่งการฟังผิด เห็นจะไม่ได้แล้ว เพราะออกมาตอนปี 2013 เป็นช่วงที่โต (จนจะแก่) แล้ว และเมื่อมาฟังตอนนี้ ก็ยังสงสัยตัวเองอยู่ว่า ทำไมช่วงแรกถึงคิดว่า Pink ร้องคนเดียวไปได้นะ

ส่วนผู้ที่มาร่วมร้องในเพลงนี้ด้วยกันกับ Pink ก็คือ Nate Ruess นักร้องนำจากวง fun ที่มีเพลงฮิตของวงอย่าง We Are Young ที่มีท่อนติดหูว่า “Tonight, we are young. So let’s set the world on fire. We can burn brighter than the sun.”

สำหรับใครที่ยังไม่เคยฟัง Just Give Me a Reason แนะนำให้ไปลองฟังเพลงนี้ในเวอร์ชัน live นี่เป็นเพลงที่ต้องร้องด้วยโทนเสียงสูงพอสมควร แต่ทั้ง Nate และ Pink ก็ยังคงร้องได้ดี โดยเฉพาะ Pink เสียงของเธอในเวอร์ชันร้องสด แทบจะไม่ต่างกับสตูดิโอเวอร์ชันเลย ปรบมือให้ด้วยความชื่นชมสิบที

และนี่ก็คือสองเพลงที่ฉันเคยหลงเข้าใจผิดไป จำได้ว่าตอนที่ประจักษ์แจ้งแก่ใจว่ามันไม่ใช่อย่างที่คิดมาตลอด ต้องกลับไปฟังเพลงอยู่หลายรอบเลยทีเดียวว่าท่อนไหนกันนะที่คนหนึ่งร้อง แล้วอีกคนมาเริ่มร้องที่ตรงไหน

อย่างไรก็ตาม สองเพลงนี้ต่างก็เป็นเพลงที่ฉันชอบ ได้ยินที่ไหน ก็อดไม่ได้ที่ต้องร้องคลอตามไปด้วยเบาๆ ก็มันไม่กล้าร้องดังไง เกรงใจชาวบ้านเค้า หุๆ จบลงด้วยความเป็นคนดีมีมารยาทอีกต่างหากนะเนี่ย

Source
ภาพประกอบ: Photo by Pixabay from Pexels

Comments