วิชาพิมพ์ดีด


แม่ส่งฉันไปเรียนพิมพ์ดีดตอนสมัยอยู่ชั้นมัธยมต้น จุดประสงค์หลักของการเรียนพิมพ์ดีดในตอนนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าคอร์สเรียนคอมพิวเตอร์ เหมือนกับว่าเป็นการวอร์มตัวเองให้คุ้นชินกับแป้นพิมพ์ก่อนที่จะไปเจอคอมพิวเตอร์ของจริง

วันแรกของการเรียนพิมพ์ดีด จำได้ว่าเมื่อยนิ้วมาก เพราะแป้นพิมพ์ดีดน่ะ มันไม่ได้ให้สัมผัสเบาและนุ่มเหมือนกับแป้นคอมพิวเตอร์ การจะกดอักษรแต่ละตัว ต้องใช้ปลายนิ้วออกแรงกดลงไปบนแป้นทีละครั้งอย่างตั้งใจ

การกดแป้นพิมพ์ดีดนั้น จะต้องกดแป้นด้วยน้ำหนักสม่ำเสมอ หากแป้นไหนกดเบาเกินไป หมึกก็อาจจะไม่ติดกระดาษหรืออาจจะมีสีจางกว่าตัวอักษรตัวอื่นๆ ก็เป็นได้ ยิ่งตัวอักษรที่ต้องใช้นิ้วก้อยกดเนี่ย ยิ่งต้องระวังและต้องตั้งใจมากกว่าปกติ

ตัวอักษรปราบเซียนในวิชาพิมพ์ดีดสำหรับฉันแล้ว เห็นจะเป็นตัวอักษรที่อยู่แถวบนของแต่ละแป้น หากเป็นคอมพิวเตอร์อย่างในปัจจุบันนี้ พวกเราก็เพียงแค่กดปุ่ม shift แล้วก็ตามด้วยการกดแป้นตัวอักษรตัวนั้น ช่างสะดวก สบายอะไรเช่นนี้ จริงไหม

แต่สำหรับเครื่องพิมพ์ดีด จะมีความยุ่งยากกว่า เนื่องจากเราจะต้องทำการยกแคร่ (มันก็คือการกดปุ่ม shift บนแป้นคอมพิวเตอร์นั่นแหละ) ไอ้เจ้าแคร่เนี่ย ก็หนักซะจริงเชียว ทำให้บางครั้งฉันเผลอปล่อยมือจากแคร่ ก่อนที่จะได้กดตัวอักษรแถวบนเหล่านั้นได้สำเร็จ

ช่วงเริ่มเรียน ชุดตัวอักษรกลุ่มแรกที่ต้องฝึกพิมพ์คือ “ฟหกด  ่าสว” นั่งกดไปเลยซ้ำๆ กดวนไปวนมาอยู่ 8 ตัวอักษรนี่แหละ กว่าจะพิมพ์ได้เป็นคำ หรือเป็นประโยคยาวๆ ฉันก็จำตัวอักษร สระ และวรรณยุกต์ทั้งแปดตัวเริ่มแรกนี้ได้อย่างแม่นยำแล้ว

นั่งพิมพ์ไปเรื่อยๆ จนเกิดความคล่องแคล่วในระดับหนึ่ง น่าจะประมาณเกือบจบเล่มของหนังสือแบบเรียนที่ใช้ฝึกพิมพ์ ผู้เรียนจึงสามารถไปแจ้งกับทางโรงเรียนเกี่ยวกับการสอบวัดระดับ เรียกว่าผู้เรียนพร้อมเมื่อไหร่ ก็เดินไปบอกเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนได้ทุกเมื่อ

สำหรับการสอบวัดระดับ เจ้าหน้าที่จะปล่อยให้เราพิมพ์ประโยคที่สุ่มเลือกจากหนังสือเรียน โดยผู้เข้าสอบจะต้องนั่งพิมพ์ไปเรื่อยๆ ภายในระยะเวลาหนึ่งนาที เมื่อหมดเวลา เจ้าหน้าที่จะมานับจำนวนคำที่นักเรียนพิมพ์ได้ จำไม่ได้แล้วว่าต้องได้กี่คำ จึงจะผ่านเกณฑ์ แต่ตอนที่รอให้เจ้าหน้าที่นับจำนวนคำเนี่ย ใจฉันน่ะเต้นตุ้บๆ และคอยเฝ้ามองการนับของเจ้าหน้าที่ไปด้วยความตื่นเต้น

จากการเรียนวิชาพิมพ์ดีดเป็นที่เรียบร้อยมาก่อนล่วงหน้าแล้ว ทำให้เมื่อเข้าเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ ฉันจึงไม่มีปัญหากับการกดแป้นตัวอักษร สามารถใช้งานแป้นคีย์บอร์ดบนคอมพิวเตอร์ได้อย่างคล่องแคล่ว

ทั้งนี้ทั้งนั้น ขอขอบคุณแม่ ผู้สนับสนุนค่าเล่าเรียน แป้นพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ดีดทุกแป้น การยกแคร่ คันโยกสีเงินสำหรับการเปลี่ยนบรรทัดใหม่ รวมไปถึงความเจ็บปวด รำคาญใจเวลาต้องลบคำที่พิมพ์ผิดด้วย เป็นเพราะการฝึกฝนในวันนั้น ทำให้ฉันสามารถระรัวนิ้ว พิมพ์ทุกคำพูดออกมาได้อย่างลื่นไหลเหมือนดังเช่นทุกวันนี้

Source
ภาพประกอบ: Photo by Dom J from Pexels

Comments