ยามเฝ้าบ้าน


ช่วงนี้พ่อจ๋ากับแม่ของฉันกำลังไปท่องเที่ยวกับกลุ่มเพื่อนอยู่ ณ ภาคเหนือของประเทศ ท่าทางทั้งคู่คงกำลังสนุกกันอยู่เป็นแน่ สังเกตได้จากไลน์กลุ่มครอบครัวที่เงียบสงบ ไร้ความเคลื่อนไหวมาได้พักใหญ่แล้ว

ฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยเข้าใจพวกผู้ใหญ่วัยพ่อแม่ว่าทำไมถึงชอบส่งรูปภาพดอกไม้ตามสีประจำวันกันนักนะ เมื่อเช้าวันจันทร์มาเยือน ไลน์กลุ่มครอบครัวจะส่งเสียงติ๊ง เตือนให้ฉันรู้แต่เช้าว่าดอกไม้สีเหลืองได้ถูกนำส่งเป็นที่เรียบร้อยโดยท่านมารดา พร้อมข้อความ “สวัสดีวันจันทร์” กำกับรูปภาพ เป็นอย่างนี้ทุกวัน ไล่มันไปจนครบ 7 วัน 7 สี

อีโมจิ อีโมเจอะนี่ยิ่งหนัก อันไหนฟรี แม่เป็นต้องไปโหลด แล้วก็กระหน่ำส่งให้สมาชิกทุกคนในครอบครัว หรือเวลาฉันส่งรูปภาพหลายๆ รูปที่ถ่ายจากกล้องของตัวเองไปให้ในไลน์กลุ่ม เมื่อแม่ได้รับและชอบภาพไหน แม่จะต้องทำการส่งรูปที่ฉันเพิ่งจะส่งไปให้ทุกคนเมื่อไม่ถึงสิบวินาทีก่อนหน้า ซ้ำอีกหนึ่งรอบ ฉันนี่งงในงงว่าทำไมต้องทำเช่นนั้น พอถามแม่ แม่ก็บอกว่าขี้เกียจพิมพ์อธิบายว่าถูกใจรูปไหนบ้าง เลยใช้วิธีส่งซ้ำ ง่ายดี

เมื่อพ่อกับแม่ไม่อยู่บ้าน จึงเป็นหน้าที่ของฉันที่จะต้องเป็นคนคอยดูแล ตรวจตราความเรียบร้อยทั้งภายในและภายนอกบ้าน มันก็ไม่มีอะไรมากเท่าไหร่หรอก ตื่นมาตอนเช้าก็เปลี่ยนน้ำถวายพระ กวาดพื้นตรงโรงจอดรถ ให้อาหารปลา (ลูกรักของพ่อจ๋า) คอยเช็คว่าตู้เย็นยังทำงานเป็นปกติดีหรือไม่

ก่อนหน้านี้ หน้าที่ของฉันยังรวมไปถึงการรดน้ำต้นไม้ที่บ้านพ่อกับแม่ด้วย และฉันก็จะอาศัยช่วงเวลาที่พ่อกับแม่ไปเที่ยวนี่แหละ ทำการเก็บกวาดพวกต้นไม้ ใบหญ้าที่เริ่มรก มีอยู่ครั้งหนึ่ง ฉันต้องตัดต้นกะเพราสายติสท์ที่มักจะขึ้นเองตามใจชอบแบบสะเปะสะปะ รวมไปถึงตัดแต่งต้นไม้ต้นหนึ่งของพ่อที่เลื้อยออกมาจนไม่เป็นรูปเป็นร่าง ตัดไปเรื่อยๆ อยู่คนเดียว ตั้งแต่ช่วงเย็นจนฟ้าเริ่มมืด จากนั้นยังต้องมาเก็บเศษกิ่งไม้ ใบไม้ที่ตัดเหล่านั้น ใส่ในถุงดำเพื่อนำไปทิ้งขยะอีก วันนั้นฉันนี่หมดแรงข้าวต้มเลย พร้อมกับอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการออกแรงเกินขนาดในวันถัดมา

ยิ่งช่วงนี้ พ่อกับแม่กำลังอินกับการปลูกต้นชบามาก ความชบาลิซึม (ชบา lism) มันเริ่มมาจากการที่แม่ไปเดินเล่นแถวบ้าน แล้วไปเจอชบาที่สวยถูกใจของเพื่อนบ้าน เลยไปขอเด็ดกิ่งกลับมาปลูกที่บ้าน หรือเวลาไปเช็คสุขภาพที่โรงพยาบาล เดินผ่านสวนหย่อมแล้วเห็นดอกชบาสีสันสดใส ก็ตรงเข้าไปขอกับคนดูแลสวนของทางโรงพยาบาล (น่าสงสารคนสวนคนนั้นจริงๆ ต้องพบเจอกับความลำบากใจที่มาในรูปมนุษย์ป้าจอมตื๊อคนหนึ่ง)

เมื่อได้กิ่งชบากลับมาบ้าน แม่ก็ส่งให้พ่อด้วยความภาคภูมิใจกับสมบัติที่ล่ามาได้ จากนั้นพ่อจะนำกิ่งชบานั้นไปประคบประหงมและปลูกลงกระถาง จนตอนนี้ที่บ้านพ่อกับแม่ มีทั้งชบาสีส้ม ชมพู เหลือง บานเย็น เรียกว่ามีมันแทบจะทุกสีแล้วมั้ง แบบพอฉันรู้ตัวอีกที บ้านก็เต็มไปด้วยบรรดากระถางใบเล็กใบน้อย พร้อมต้นไม้ที่พ่อเอามาปักชำปลูกเพิ่มเติมจนเต็มบ้าน รดน้ำแทบไม่ไหวแล้วพ่อจ๋า

มาถึงสมบัติของแม่กันบ้าง แม่ฉันเป็นคนชอบเก็บของ ซึ่งฉันเดาเอาว่าแม่อาจจะรู้สึกเสียดาย เลยตั้งใจเก็บของพวกนั้นเอาไว้ก่อน เผื่อว่าจะได้นำไปใช้อีกครั้งในภายหลัง แต่ที่ไม่เข้าใจคือ มันควรจะเก็บแบบพอดีๆ มั้ยแม่ นี่บางอย่าง แม่เล่นเก็บจนเกินขนาด ยกตัวอย่างเช่น บรรดากล่องพลาสติกที่ใส่อาหาร ถุงพลาสติก ถุงกระดาษจากห้างสรรพสินค้า ถุงผ้าที่ฉันเชื่อว่าแม่น่าจะมีแทบทุกขนาดแล้ว หนังสือแจกฟรี แผ่นพับ ใบปลิว แม้แต่พลาสติกกันกระแทกที่ใช้หุ้มพวกผลไม้ แม่ก็ยังเก็บ (อันนี้ฉันไม่เข้าใจอย่างแรงว่าจะเก็บไปทำไม) และอื่นๆ อีกมากมาย สาธยายไม่หมด

ตอนแม่ไม่อยู่นี่แหละ จึงเป็นช่วงเวลาอันดีที่ฉันจะ (แอบ) กำจัดของที่มากมายเกินความต้องการเหล่านี้ เป้าหมายแรกที่ฉันเล็ง คือ พลาสติกกันกระแทกสำหรับผลไม้ เห็นเป็นไม่ได้ จะต้องไปรื้อ คุ้ยออกมาทิ้งให้หมด จากนั้นก็เป็นบรรดาถุงกระดาษ ถุงพลาสติก ลำดับต่อไปก็เป็นซองซอสมะเขือเทศ ซอสพริก ซองพริกป่น+น้ำตาล ซองน้ำปลาที่ฉันแน่ใจว่าบางอันแม่เก็บไว้จนน่าจะหมดอายุการใช้งานไปนานแล้ว

ช้อน ส้อมพลาสติกนี่ก็เหมือนกัน จะเก็บไว้ไปปิกนิกกับพ่อหรือไงนะ ทำไมมันมากมายอะไรแบบนี้ กล่องกระดาษนี่ก็ด้วย จะเก็บไว้เยอะแยะทำไม แกะออกมาแล้วเอาไปชั่งขายยังมีประโยชน์ซะกว่า

ครั้งหนึ่งเมื่อแม่กลับมาบ้าน พอรู้ว่าบรรดาสมบัติล้ำค่า ของวินเทจมากมายประดามีที่ตัวเองเก็บสะสมไว้ ได้อันตรธานหายไปอย่างไร้ร่องรอย แม่ก็พุ่งเป้ามาที่มือฉกสมบัติอย่างฉันทันที พร้อมกับการตัดพ้อต่อว่ายาวยืด ไม่จบไม่สิ้น แต่นั่นก็ไม่ทำให้ฉันหมดกำลังใจในการจัดการกับสมบัติประเภทนี้หรอกนะ

หรือนี่จะเป็นนิสัยอย่างหนึ่งของคนในวัยพ่อกับแม่กันนะ ชอบเก็บสะสม อันนั้นเก็บไว้ก่อนดีกว่า อันนี้ก็เสียดายจัง ไม่อยากทิ้งเลย ไปๆ มาๆ ของก็เต็มบ้านไปหมด เฮ้อ! แอบทิ้งไปกี่รอบ เดี๋ยวผ่านไปสักพัก ก็เข้าอีหรอบเดิม

วิธีการระบายความอัดอั้นของฉัน จึงเป็นการไปบ่นพึมพำกับบรรดาต้นชบา ต้นสับปะรดสี ต้นโป๊ยเซียน (สองต้นหลังนี้ พ่อเคยฮิตปลูกก่อนที่จะมาอินกับต้นชบา) รวมไปถึงเหล่าปลาหางนกยูงลูกรักของพ่อ ถือเป็นการคลายเครียดไปในตัว

สำหรับการไปเที่ยวของพ่อกับแม่รอบนี้ ฉันยังไม่ได้รื้อค้นอะไรออกมาทิ้งเลยสักอย่าง เพราะมัวแต่ใช้เวลาไปกับการซ้อมดนตรี กลับมาครั้งนี้ เชื่อว่าแม่คงจะโล่งใจที่ข้าวของตัวเองไม่หดหายไป พ่อก็คงไม่ต้องตกใจกับภาพของต้นไม้ที่มีรูปลักษณ์แปลกประหลาดจากฝีมือนักแต่งสวนมือสมัครเล่น (ภาคบังคับ) อย่างฉัน

แต่สิ่งที่ฉันแน่ใจที่สุดคือ หน้าฟีดไลน์กลุ่มครอบครัวหลังจากนี้ จะต้องเต็มไปด้วยบรรดารูปถ่ายจากทริปเที่ยวภาคเหนือของทั้งคู่เป็นแน่แท้

สวัสดีวันอาทิตย์สีแดง

Source
ภาพประกอบ: Photo by . ▃ from Pexels

Comments