จากโพสต์ก่อนหน้านี้ที่ฉันได้พูดถึงขนมว่าเป็นของคู่กันกับเด็ก หากจะไม่พูดถึงของเล่น มันก็คงจะไม่ครบถ้วนกระบวนความ ดังนั้น ฉันจึงขอกล่าวถึงบรรดาของเล่นของฉันเมื่อสมัยยังเป็นเด็กน้อยใสๆ ให้ได้ระลึกถึงความหลังสักเล็กน้อย
หนึ่งในของเล่นยอดฮิตในหมู่เด็กผู้หญิงสมัยฉันนั้น ได้แก่ แต่งตัวตุ๊กตา ของเล่นชนิดนี้ ทำขายเป็นเล่ม (มีรูปเล่มเหมือนหนังสือนิทาน) โดยด้านในเล่มจะมีตุ๊กตากระดาษที่มีรอยประให้เราค่อยๆ แกะออกมา เล่มหนึ่งอาจมีตุ๊กตามาให้ประมาณ 1-2 ตัว ส่วนหน้าอื่นๆ จะเป็นบรรดาเครื่องแต่งกาย ไม่ว่าจะเป็นกระโปรง เสื้อ กางเกง ชุดราตรี รวมไปถึงเครื่องประดับตกแต่งอื่นๆ อีกด้วยนะ เช่น สร้อยคอ หมวก รองเท้า กระเป๋า เป็นต้น
ฉันชอบเกมชนิดนี้มาก เพราะสนุกกับการบรรจงแกะทั้งตัวตุ๊กตาและเหล่าเสื้อผ้าของมัน (ต้องแกะด้วยความระมัดระวัง มือหนักไปนิด เสื้ออาจขาดก่อนได้เล่นนะ) เสื้อผ้าบางตัวที่เห็นในเล่ม สวย น่ารักมาก จนบางครั้งฉันนึกอยากได้ของจริงมาใส่เองเลยด้วยซ้ำ
เวลาเลือกเสื้อผ้าให้ตุ๊กตาใส่ เราจะต้องพับเส้นกระดาษที่ใช้เป็นตัวยึดเสื้อผ้าเข้ากับตัวตุ๊กตา และเป็นธรรมดาที่เมื่อเล่นไปสักระยะหนึ่ง ตรงรอยพับก็จะเริ่มเปื่อย บางทีก็อาจขาดออกจากตัวเสื้อ ด้วยความเสียดาย บางครั้งฉันจึงเพียงเอาเสื้อผ้ามาแนบกับตัวตุ๊กตาเท่านั้น ไม่พับมันลงไปให้เป็นรอย ป้องกันการเปื่อยของกระดาษ (แต่เพิ่มภาระให้กับนิ้วมือที่จะต้องคอยจับยึดเสื้อผ้าตัวนั้นเอาไว้)
อีกหนึ่งการละเล่นยอดนิยมของเด็กผู้หญิง เห็นจะหนีไม่พ้น การเล่นขายของ ฉันคิดว่าการละเล่นชนิดนี้ ความสนุกน่าจะขึ้นอยู่กับความบรรเจิดของผู้เล่นแต่ละคน แน่นอนว่าอุปกรณ์ครัวชนิดต่างๆ ที่แต่ละคนมีอยู่ ก็ย่อมมีผลกับความสนุกของผู้เล่นเช่นเดียวกัน
ชุดหม้อข้าวหม้อแกงที่ฉันเคยมี ประกอบไปด้วย หม้อ จาน กระทะที่ทำจากอลูมิเนียม นอกจากนี้ ฉันก็ยังมีชุดหม้อข้าวหม้อแกงดินเผา ที่มีขนาดใหญ่กว่า และเวลาเล่นก็ให้ความรู้สึกสะใจกว่าแบบอลูมิเนียมอีกด้วย มีทั้งเตาไฟ หม้อใส่ขนม และสองชิ้นที่ฉันชอบที่สุด ได้แก่ ชุดเตาขนมครกดินเผา และครกดินเผา ส่วนช้อน ส้อม ตะหลิว ก็ไปหยิบช้อนไอติมมาใช้แทน
จะเล่นขายของให้สนุก เราก็ต้องมีวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหาร จะไปหาจากไหนน่ะเหรอ ง่ายมาก เดินไปในสนาม แล้วก็ไปเด็ดใบไม้ ดอกไม้ที่ถูกใจ (ถูกใจฉัน แต่อาจทำให้พ่อจ๋าแอบเคือง) เอามาตำ ผัด แกง ทอด ต้ม ตามแต่จินตนาการของแต่ละคน บางครั้งเมื่อฉันลงมือทำแกงมโน ฉันก็จะเติมน้ำลงไปด้วย เพื่อความสมจริง (ดีนะ ที่ไม่เผลอแอบชิม)
ถ้าตอนนั้น กำลังมโนว่าทำส้มตำ ก็จะเอาใบไม้ ดอกไม้ มาใส่ในครก จากนั้นก็ตำ ตำ และตำ โดยจดจำลีลาการตำมาจากแม่ค้าส้มตำ ไก่ย่างที่เข็นมาขายแถวบ้านนั่นแหละ หรือเวลาทำขนมครก (อันนี้เด็ดสุด) ฉันก็จะไปขอแป้งดินสอพองจากผู้ใหญ่ แล้วก็หยอดลงไปในแก้วที่เติมน้ำ เมื่อคนให้เข้ากันอย่างดิบดีแล้ว จากนั้นจึงค่อยๆ หยอดน้ำแป้งดินสอพองนั้นลงไปในหลุมขนมครก เป็นไงล่ะ ได้ขนมครกดินสอพอง เก๋ไก๋ซะไม่มี
อย่างไรก็ตาม กว่าที่ฉันจะเล่นได้แบบที่เล่ามาข้างต้นนั้น จะต้องผ่านขั้นตอน “จัดเรียงเครื่องเล่น” ให้เรียบร้อยก่อน ถ้าเล่นแต่งตัวตุ๊กตา ฉันก็จะต้องเอาเสื้อผ้าทั้งหมดที่เก็บใส่กล่องไว้ มาเรียงเป็นแถวยาว เพื่อให้ตัวเองเห็นบรรดาเสื้อผ้าเหล่านั้นได้โดยง่าย (จะให้มานั่งหยิบๆ เขี่ยๆ เอาทีละตัวจากในกล่อง มันก็ไม่ใช่สไตล์ฉัน) หรือว่าถ้าจะเล่นขายของ ฉันก็จะต้องหอบถุงที่เก็บบรรดา หม้อ ไห จาน ชามทั้งหมด ออกมาตั้งไว้ข้างตัว แล้วค่อยๆ หยิบอุปกรณ์ทีละชิ้นมาเรียงไว้รอบตัว เพื่อให้ง่ายต่อการหยิบจับมาใช้
ปัญหาของการจัดเรียงแบบฉันก็คือ บางครั้งกว่าจะจัดเสร็จ ฉันก็นึกเมื่อยและเบื่อจนขี้เกียจจะเล่นแล้ว (อะไรกัน! นี่แกยังไม่ได้เริ่มเล่นเลยนะ) เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดาเสื้อผ้าของตุ๊กตา หรือเหล่าจานชามที่เพิ่งได้ออกมาสูดอากาศภายนอก ก็จะถูกจัดเก็บลงกล่องและลงถุงอย่างเดิม
ผู้ที่น่าสงสารที่สุด ไม่ใช่เหล่าเสื้อผ้าและอุปกรณ์ครัวหรอกนะ แต่เป็นน้องของฉันที่ยังไปไม่ถึงขั้นตอนการละเล่นอย่างแท้จริง โถ! อุตส่าห์เฝ้ารอให้พี่อย่างฉันจัดเรียงของจนเสร็จ นึกว่าจะได้เล่น ที่ไหนได้ ต้องมานั่งมองดูเจ้าพี่บ้าเก็บของเหล่านั้นลงกล่องแบบตาปริบๆ
ฉันคิดว่าน้องคงจะงงและสับสนพอสมควร ไหนแกชวนมาเล่นกันไง แล้วทำไมสิ่งที่ได้รับมีแต่ความเคว้งคว้าง เหมือนถูกลอยแพแบบนี้ ความรู้สึกนี้คงติดอยู่ในใจน้องตั้งแต่ตอนนั้น จนกระทั่งโตมา มันก็มาบ่นแบบตัดพ้อถึงความน่าสงสารของตัวเองที่พลาดการเล่นในหลายต่อหลายครั้ง
มานั่งนึกดูตอนนี้ ฉันก็ได้แต่ขำกับพฤติกรรมของตัวเองในตอนเด็ก เหมือนกับว่าถ้าไม่จัดของ ฉันก็จะเริ่มเล่นไม่ได้ ประมาณนั้นเลย ในขณะที่ตัวฉันเองมัวแต่เฝ้าจัดเรียงของให้เข้าที่เข้าทาง คนอื่นๆ อาจจะสนุกกับการเล่นไปถึงไหนต่อไหนแล้ว (อืม...ถ้าน้องของฉันไปเล่นกับคนอื่น มันก็อาจจะเฮฮาไปนานแล้วก็เป็นได้)
นิสัยชอบจัดเก็บของให้เข้าที่เข้าทางนี้ ยังลุกลามไปถึงการจัดเตรียมของเพื่อไปโรงเรียนในตอนเช้าด้วยนะ เมื่อกลับถึงบ้านในแต่ละวัน หลังจากกินข้าวเย็นเสร็จเรียบร้อย ฉันก็จะเริ่มกระบวนการ “เตรียมตัวไปเรียนในวันใหม่” โดยฉันจะมานั่งเรียงนาฬิกาข้อมือ โบว์ติดเสื้อ เข็มขัด ผ้าเช็ดหน้า ถุงเท้า เอาไว้บนหิ้ง พอถึงตอนเช้า หลังจากอาบน้ำ ใส่เสื้อผ้าเรียบร้อย จากนั้นก็หยิบของที่จัดเอาไว้ มาแต่งตัวต่อให้ครบถ้วนได้เลย
วันไหนมีเรียนเนตรนารี การแต่งตัวก็จะแตกต่างออกไปจากวันอื่นๆ รวมไปถึงการจัดเรียงชิ้นส่วนต่างๆ ด้วย ฉันจะทำการม้วนผ้าพันคอเอาไว้ก่อนเลย แล้วก็วางวอกเกิ้ลหนังและเข็มนางฟ้าเอาไว้ข้างๆ กัน ตอนนั้นยังเด็ก บางครั้งฉันก็ติดเข็มนางฟ้าเบี้ยวไปบ้าง บางวันก็เผลอทำเข็มจิ้มนิ้ว (โอ๊ย! เจ็บ) ยังไม่ทันไปโรงเรียน ก็ได้รสชาติตั้งแต่เช้าเลย
ช่วงแรกฉันก็จัดวางเครื่องแต่งกายของฉันเพียงคนเดียว ในเวลาต่อมา เมื่อฉันเปิดตู้เสื้อผ้าเพื่อจัดเตรียมของ สายตาก็เหลือบไปเห็นเครื่องแต่งกายของน้องด้วย (ตอนนั้นฉันกับน้องยังคงใช้ตู้เสื้อผ้าเดียวกันอยู่) ฉันก็เลยถือโอกาส เตรียมของให้น้องไปด้วยเลย แม้น้องจะดูไม่ปลื้มเท่าไหร่ก็ตาม
น้องของฉันนั้น เป็นอะไรที่แทบจะตรงกันข้ามกับฉันอย่างสิ้นเชิง เมื่อรถนักเรียนมาจอดรอหน้าบ้านในตอนเช้า ฉันจะหยิบกระเป๋านักเรียน เตรียมพร้อมเพื่อเดินไปขึ้นรถ ส่วนน้องฉันน่ะเหรอ บางวันปากยังคาบอาหารเช้าติดมาด้วย มือหนึ่งถือกระเป๋า มืออีกข้างฉวยโบว์ (ที่ติดจากบ้านไม่ทัน) เอามาติดในรถ
เวลาก็ได้เดินมาจนถึงปัจจุบัน ถ้ามีใครชวนฉันเล่นแต่งตัวตุ๊กตา หรือเล่นขายของในตอนนี้ คนอย่างฉันก็คงจะเริ่มกระบวนการประจำตัว เหมือนที่เคยทำเมื่อตอนเด็กเป็นแน่แท้ แต่สงสัยว่าเพื่อนร่วมเล่นอาจจะค่อยๆ ปลีกตัวออกไปเล่นกันเองแหงๆ ทิ้งให้ฉันจมอยู่กับโลกส่วนตัวอันแสนสุข (แบบเชื่องช้า) ตามลำพัง
Source
ภาพประกอบ: Photo by Skitterphoto from Pexels
Comments
Post a Comment