They are all the champions!


เป็นเวลาเกือบสองทศวรรษมาแล้วที่ฉันได้ดูภาพยนตร์เรื่อง D2: The Mighty Ducks ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาคสองในจำนวนทั้งหมดสามภาค แต่นับเป็นเรื่องแรกที่ทำให้ฉันได้รู้จักกับโค้ช Gordon Bombay และบรรดาผู้เล่นในทีม Ducks ไม่ว่าจะเป็น Charlie Conway, Fulton Reed, Dean Portman, Luiz Mendoza, Ken Wu, Julie “The Cat” Gaffney และ Russ Tyler เป็นต้น

เรื่องราวในภาพยนตร์ทั้งสามภาคนี้เป็นอย่างไร หากใครอยากรู้ (และขี้เกียจไป google เอาเอง) โปรดอดใจรอนิดนึง เพราะฉันคิดว่าอาจจะเขียนถึงภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องนี้ในแบบลงลึกมากกว่าการกล่าวถึงแค่สั้นๆ stay tune!

เกริ่นมาซะยาว เข้าเรื่องดีกว่า ภาพยนตร์เรื่อง D2 นี่แหละที่ทำให้ฉันได้รู้จักกับจังหวะ stomp-stomp-clap อันแสนจะเป็นเอกลักษณ์ของเพลง We Will Rock You และอิ่มเอมใจไปกับบทเพลงของผู้มีชัยอย่าง We Are the Champions

ฉันเพลิดเพลินอยู่หน้าจอโทรทัศน์และดูหนังจนจบ ทว่า...ความรู้สึกของฉันไม่ได้จบตามไปด้วย บทเพลงทั้งสองเพลงยังคงติดตรึงอยู่ในใจฉัน ด้วยความอยากรู้ชื่อเพลงและวงดนตรีที่เป็นเจ้าของบทเพลงสุดประทับใจนี้ ทำให้ฉันนั่งติดขอบจอเพื่อเฝ้ารอดูรายชื่อเพลงที่มักจะเป็นรายละเอียดที่อยู่ในช่วงท้ายของเครดิตภาพยนตร์

การเฝ้ารอของฉันสัมฤทธิ์ผล เพราะมันทำให้ฉันรู้จัก Queen และหลังจากนั้นฉันก็พุ่งตัวไป Tower Records เพื่อไปตามหาเทปเพลงของวงนี้ (แค่บอกชื่อร้านนี้ไปและพูดถึงการที่ยังคงตามหาซื้อเทปเพลงในตอนนั้น น่าจะทำให้คนอ่านตระหนักถึงความอาวุโสของฉันในตอนนี้ได้เลยสินะ) ซึ่งร้าน Tower Records เปรียบเสมือนแหล่งขุมทรัพย์อันล้ำค่าสำหรับฉัน เพราะร้านแห่งนี้ทำให้ฉันประสบความสำเร็จในการตามหาเพลงหรือวงดนตรีที่ตัวเองชื่นชอบมานักต่อนักแล้วจากการจัดเรียงสินค้าตามลำดับตัวอักษร ทำให้สะดวกในการตามหาเหล่าศิลปินในดวงใจของฉัน

ฉันยังจำหน้าปกอัลบั้ม News of the World ของ Queen ที่ตัวเองดั้นด้นไปตามล่ามาได้ พื้นหลังเป็นสีเขียว มีหุ่นยนต์สีเทาที่มีสองสมาชิกในวงอยู่ในอุ้งมือ โดยทั้ง We Will Rock You และ We Are the Champions ได้ถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้มนี้ สองเพลงนี้เปรียบประดุจเพลงประจำของการแข่งขันกีฬา ได้ยิน  stomp-stomp-clap เมื่อไหร่ มักจะได้ยินบทเพลงของผู้มีชัยเป็นเพลงต่อมา

หลังจากฟังเพลงในอัลบั้มนี้แล้ว ฉันก็ไปตามอ่านประวัติของวง Queen รวมไปถึงประวัติของสมาชิกแต่ละคน และนับจากวินาทีนั้น ชื่อของ Freddie Mercury, Brian May, Roger Taylor และ John Deacon ก็ถูกบันทึกไว้ในระบบความจำของฉันเป็นที่เรียบร้อย

ฉันรู้สึกตื่นตาตื่นใจไปกับการแสดงบนเวทีของ Freddie ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าสุดอลังการงานสร้าง ท่วงท่าลีลาในการเคลื่อนไหว ความสามารถในการดึงดูดความสนใจจากผู้ชม และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เสียงอันทรงพลังของเขาผู้นี้

เมื่อรวมเข้ากับฝีมือการเล่นกีตาร์ขั้นเทพของ Brian มือกีตาร์รูปร่างผอม สูงชะลูด เสียงกลองจากมือกลองผมบลอนด์อย่าง Roger และเสียงเบสจากมือเบสผู้พูดน้อยอย่าง John ยิ่งช่วยส่งให้ดนตรีของ Queen ฟังแล้วมีความเป็นเอกลักษณ์

สิ่งที่ดีเลิศสุดในความรู้สึกของฉันที่ได้จากวง Queen คือ การได้ฟังเพลง Bohemian Rhapsody โดยเพลงที่มีความยาวเกือบ 6 นาทีนี้ มีหลายคนกล่าวไว้ว่า ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเพลงร็อกที่ดีที่สุดตลอดกาล เพลงนี้อยู่ในอัลบั้ม A Night at the Opera ปกอัลบั้มเป็นพื้นสีขาว มีตราประจำวง Queen อยู่ตรงกลาง ซึ่งตราประจำวงนี้ ถูกออกแบบโดย Freddie อดีตนักศึกษาศิลปะ โดยเป็นการรวบรวมสัญลักษณ์ราศีประจำเดือนเกิดของสมาชิกทุกคนในวงเข้าไว้ด้วยกัน

หากให้ฉันพูดถึงเพลงนี้ มันน่าจะเหมือนภาพวาดที่จิตรกรได้สะบัดพู่กันแต่งแต้มหลากหลายเฉดสีไว้ด้วยกันในภาพเดียว เราจะรับรู้ได้ถึงความเชื่องช้า ล่องลอย ฟุ้งฝันในช่วงต้นเพลง ช่วงโอเปราที่ทำให้ใจเต้นตึกตัก ช่วงร็อกสุดเร้าใจจากเสียงกีตาร์ และกลับมาจบแบบเพ้อฝันและนุ่มนวลอีกครั้งในช่วงท้าย

เพลงนี้เป็นเพลงที่เมื่อก่อนฉันมักจะได้ยินเวลาเดินผ่านแผนกไฟฟ้าตามห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะท่อนที่ร้องว่า “Bismillah! No, we will not let you go” ประหนึ่งเนื้อเพลงท่อนนี้เป็นสิ่งที่จะช่วยชี้วัดประสิทธิภาพของเครื่องเสียงและโทรทัศน์ และเสียงก็จะยิ่งก้องกังวานมากตรงท่อนรับที่ว่า “Let him go” พร้อมกันนั้นก็จะได้เห็นภาพหน้าของสมาชิกในวงทั้ง 4 คน ที่โผล่มาแบบมืดๆ จากโทรทัศน์รุ่นใหม่ที่วางโชว์คู่กันกับเครื่องเสียง ฉันในตอนนั้น ก็ได้แต่ฟังแบบงงๆ ส่วนคุณพี่พนักงานขายก็ออกอาการภูมิใจที่ได้โชว์ภาพคมชัดและพลังเสียงกระหึ่มให้ลูกค้าที่ผ่านไปผ่านมาได้ยินได้ฟังโดยทั่วกัน

เมื่อพูดถึงเนื้อร้องในเพลง สิ่งนี้ก็ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งยวดให้กับเด็กมัธยมปลายอย่างฉันในตอนนั้น ได้เจอกับคำแปลกหูมากมาย โดยเฉพาะเนื้อร้องในท่อนที่เป็นโอเปราที่ต่อจากท่อนกีตาร์โซโลของ Brian ที่ทำให้ฉันพิศวง งงงวย ตั้งแต่ครั้งแรกของการฟัง (ตอนนั้นยังฟังไม่รู้เรื่องว่าเค้าร้องว่าอะไรนั่นเอง)

ความมึนงงมาเยี่ยมเยือนฉันตั้งแต่ได้เจอคำว่า silhouetto แล้วแหละ จากนั้นคำแปลกๆ ที่เพิ่งเคยได้ยินอย่าง  Scaramouche ก็ตามมา และยังมี Fandango ต่อด้วย Galileo figaro magnifico (อันนี้พอคุ้นหูอยู่บ้างจาก Galileo ที่เป็นนักดาราศาสตร์) เพิ่มความมึนเข้าไปอีกด้วยคำว่า Bismillah! และปิดท้ายด้วย Beelzebub กว่าจะจบท่อนโอเปรา เล่นเอาฉันเมื่อยมือเพราะต้องพลิกหน้ากระดาษเพื่อค้นหาความหมายจากพจนานุกรมภาษาอังกฤษ (บางคำเปิดไปก็หาไม่เจอหรอกนะ)

แม้ว่าตอนนั้น ฉันแทบจะไม่ค่อยเข้าใจในสิ่งที่เพลงกำลังพูดถึงก็ตาม แต่เมื่อฟังเพลงนี้จบ ยิ่งทำให้ฉันชอบ Freddie และ Queen มากขึ้นไปอีกหลายเท่า เป็นประสบการณ์การฟังเพลงที่ได้ความแปลกใหม่ แปลกหูแต่ก็ฟังเพลินอยู่ และ Bohemian Rhapsody ก็เป็นหนึ่งในเพลงโปรดตลอดกาลของฉันนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

Somebody to Love จากอัลบั้ม A Day at the Races เป็นอีกหนึ่งเพลงที่ฉันชอบมากเป็นพิเศษ ชอบทั้งเนื้อร้องและทำนอง เพลงนี้โดนใจฉันตั้งแต่ช่วงเริ่มเพลงแล้ว ตรงท่อนที่ร้องว่า “Each morning I get up I die a little” ฟังแล้วมันตรงใจมาก เสียงสูงและทรงพลังของ Freddie ในเพลงนี้ ยากที่จะหาผู้ใดมาเทียบเคียงได้

ในความคิดของฉัน นักร้องที่ร้องเพลงนี้ได้ยอดเยี่ยม แบบที่สามารถสร้างความประทับใจให้เกิดกับฉันได้อีกครั้งนอกจากการฟัง Freddie ร้องแล้ว คือ George Michael โดยเขาได้ร้องเพลงนี้ที่ Wembley Stadium ในปี 1992 ในงาน The Freddie Mercury Tribute Concert for AIDS Awareness

ช่วงพีคของการแสดงในครั้งนั้น อยู่ตรงช่วงที่ George ร้องท่อน “Somebody to…o…o…o” เสียงสูงๆ พร้อมกับยื่นไมค์ไปที่กลุ่มคนดูให้ร้องคำว่า love…e…e…e ยาวๆ จากนั้น George ก็หมุนตัวหนึ่งรอบเพื่อส่งสัญญาณบอกนักดนตรีคนอื่นให้เตรียมพร้อมสำหรับท่อนต่อไป และร้อง Yeah ให้สังเกตสีหน้าของ Brian May รอยยิ้มอิ่มเอมใจของ Brian ที่เผยออกมาให้เห็น หลังจากที่ George ร้องท่อนนั้นออกมา คือคำตอบทุกอย่างแล้ว (น่าเศร้าที่ตอนนี้ George Michael ก็โบกมืออำลาพวกเราไปสู่ดวงดาวส่วนตัวของเขาแล้วเช่นเดียวกัน)

ในเวลาต่อมา ฉันก็ได้รู้จักกับเพลงอื่นๆ ได้แก่ Radio Ga Ga, Don’t Stop Me Now, Love of My Life ที่ Freddie แต่งให้ Mary Austin ผู้หญิงที่เขารัก, Crazy Little Thing Called Love ที่ Freddie แต่งเพื่อเป็นเกียรติแก่ Elvis Presley ราชาเพลงร็อกแอนด์โรล, หรือเพลง Under Pressure ที่ Queen ร่วมขับร้องกับ David Bowie เป็นต้น

น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ Freddie ได้จากเหล่าแฟนเพลงของเขาไปตั้งแต่ 24 พฤศจิกายน 2534 (ปีค.ศ. 1991) นี่ก็ใกล้จะครบ 27 ปีที่นักร้องมากความสามารถผู้นี้ได้จากพวกเราไปแล้ว หลังจากเขาจากไป John มือเบสของวงก็ค่อยๆ อำลาตัวเองจากการแสดงคอนเสิร์ต ส่วน Brian และ Roger ในปัจจุบันนี้ก็ยังคงเล่นดนตรีร่วมกับศิลปินอื่นๆ ถึงแม้ความเป็น Queen จะไม่มีวันเหมือนเดิมได้อีกต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอน คือ พวกเขาทั้งสี่คนได้ร่วมกันสร้างผลงานอันเป็นอมตะขึ้นมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ภาพของผู้ชายคิ้วเข้ม ตาคม ไว้หนวดแล้วดูดี มีสไตล์ในการแต่งตัว นักร้องผู้มีช่วงเสียงกว้าง ยากจะหาใครมาเทียบเคียง มีท่วงท่าลีลาอันเป็นเอกลักษณ์ การแสดงบนเวทีแสนจะมีสีสันเป็นที่น่าจดจำ มีความสามารถในการตรึงความสนใจผู้ชมให้อยู่ที่เขาเพียงผู้เดียว และขโมยใจผู้ชมทุกคนไปได้อย่างง่ายดาย ดังเช่นที่เขาแสดงให้เหล่าแฟนเพลงและบรรดาผู้ชมทุกคนได้ประจักษ์ในงานคอนเสิร์ต Live Aid ในปี 1985

คุณสมบัติอันน่าทึ่งเหล่านี้ของเขา เป็นดั่งภาพจำและทำให้ฉันระลึกถึง Farrokh Bulsara หรือที่พวกเรารู้จักกันดีในนาม Freddie Mercury แห่งวง Queen เสมอมาและตลอดไป

Mr. Fahrenheit ตอนนี้คุณกำลังร้องเพลงอยู่ที่ไหน? ฝากความคิดถึงของฉันให้เดินทางไปถึงคุณด้วยความเร็วแสง หวังเป็นอย่างยิ่งว่ามันจะส่งตรงไปถึงคุณ

Source
ภาพประกอบ: Photo by Katarzyna Modrzejewska from Pexels

Comments