Bohemian Rhapsody


เดือนพฤศจิกายนได้มาเยือนอย่างรวดเร็ว อีกนิดเดียวก็จะเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2561 แล้ว (ว่าแต่เวลาสิบเดือนที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว มันหายไปไหน มาไวไปไวเหลือเกิน)

ณ วันแรกของเดือนพฤศจิกายน ฉันตัดสินใจไปดูภาพยนตร์เรื่อง Bohemian Rhapsody จุดเริ่มต้นมาจากการที่ฉันได้เห็นรูปภาพเปรียบเทียบจากคลิปใน YouTube ระหว่าง Freddie Mercury นักร้องนำผู้โด่งดังแห่งวง Queen และ Rami Malek นักแสดงเชื้อสายอียิปต์ ผู้ที่มารับบทเป็น Freddie โดยก่อนหน้านี้ ฉันรู้จัก Rami เป็นครั้งแรกจากการรับบทเป็น Pharaoh Ahkmenrah ในภาพยนตร์เรื่อง Night at the Museum ที่มี Ben Stiller แสดงนำ

เพียงครั้งแรกที่ได้เห็นภาพเปรียบเทียบระหว่างสองคนนี้ ฉันได้แต่ตกใจกับความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมากระหว่าง Freddie และ Rami จากนั้น ฉันก็รัวนิ้วพิมพ์ค้นหา trailer ของภาพยนตร์เรื่อง Bohemian Rhapsody เพื่อคลิกเข้าไปดูอย่างรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ แปร๊บ แปร๊บ

ตัวอย่างภาพยนตร์หรือ trailer ก็มีอยู่ด้วยกันหลายเวอร์ชัน ฉันจึงกดดูคลิปอันแรกที่เจอก่อนเพื่อน เพียงแค่ได้ยินการนำสองเพลงอมตะของ Queen อย่าง We Will Rock You และ We Are the Champions มาผสมผสานกันในช่วงเริ่มของตัวอย่างภาพยนตร์ ความตื่นเต้นของฉันก็บังเกิดแล้ว จากนั้นก็ได้ยินเพลง Bohemian Rhapsody พร้อมกับการเห็น Ben Hardy ผู้รับบท Roger Taylor กำลังโวยวายเกี่ยวกับการร้องท่อน Galileo ฉันก็ได้แต่ขำอยู่คนเดียว และเมื่อดูคลิปนี้จนจบความยาวสองนาทีกว่าๆ ฉันก็ได้ข้อสรุปในใจกับตัวเองว่าจะต้องหาเวลาไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ให้จงได้

เมื่อตกลงกับตัวเองเป็นที่เรียบร้อย ฉันก็คลิกดูคลิปตัวอย่างภาพยนตร์อันที่สอง คลิปนี้ก็ขึ้นมาแบบประทับใจด้วยการร้อง Ay-Oh เหมือนที่ Freddie เคยร้องไว้ใน Live Aid ปี 1985 จากนั้นเหล่าเพลงฮิตของ Queen ก็ตามมาให้ฉันได้ยินอีกมากมาย มีทั้ง Another One Bites the Dust, Killer Queen, Bohemian Rhapsody และ We Will Rock You ดูคลิปตัวที่สองจบ ฉันยิ่งอยากเร่งวันเร่งคืนเพี่อให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายเร็วขึ้น

คลิปตัวอย่างที่สามที่ฉันได้ดู จะเน้นที่เพลง Under Pressure ที่เปิดคลอไปเกือบทั้งคลิป ในตัวอย่างภาพยนตร์ชิ้นที่สามนี้ ฉันชอบฉากที่ Rami ในบทบาท Freddie เดินออกมาในชุดขาวสุดล้ำ ตัวเสื้อจับจีบเป็นระบายแผ่คลุมหัวไหล่ และเมื่อ  Gwilym Lee ผู้รับบท Brian May เห็น จึงเอ่ยแซวว่า “You look like an angry lizard” แค่ฉากนี้ฉากเดียว จบ ตัดสินใจได้ทันทีว่ายังไงก็ต้องออกจากบ้านเพื่อไปดูเรื่องนี้แน่นอน

เมื่อถึงวันที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายตามโรงภาพยนตร์ หลังจากฝ่ารถติดเพื่อไปถึงห้าง รีบตีตั๋วเข้าชมรอบแรกที่ฉายในเวลาเที่ยงห้าสิบนาที เมื่อได้ตั๋วมาอยู่ในมือ ก็ตรงรี่เข้าไปสั่งป็อปคอร์นพร้อมน้ำเปล่าหนึ่งขวด เพื่อใช้เป็นเสบียงในระหว่างดูหนัง จากนั้นก็เดินเข้าโรงไปหาที่นั่ง เตรียมตัวพร้อมเต็มที่ในการดู

ในช่วงแรกของภาพยนตร์ เราจะได้เห็นชีวิตในช่วงก่อนที่จะมาเป็นนักร้องของ Freddie แบบสั้นๆ รวมถึงได้รู้จักกับครอบครัวของเขา ซึ่งมีพ่อ แม่ และน้องสาวหนึ่งคน รวมทั้งการที่เขาเข้าไปเสนอตัวเพื่อเป็นนักร้องนำคนใหม่ให้กับวง Smile ที่มี Brian May และ Roger Taylor เป็นสมาชิก โดยที่ขณะนั้นนักร้องนำคนเก่าของวงอย่าง Tim Staffell เพิ่งจะขอแยกตัวเพื่อไปอยู่กับวง Humpy Bong

นักแสดงผู้มารับบทเป็นสมาชิกทั้งสี่คนของ Queen ได้แก่ Rami Malek, Gwilym Lee, Ben Hardy และ Joseph Mazzello ก็ทำให้ฉันรู้สึกเชื่อว่าพวกเขาคือ Freddie, Brian, Roger และ John ตัวจริง (หากใครเคยได้ดู Jurassic Park น่าจะจำ Joseph Mazzello ในบทบาทของ Tim Murphy ที่ขณะนั้นยังเป็นเพียงเด็กชายตัวเล็กได้)

หนึ่งในฉากที่ฉันชอบ คือ การเล่นเปียโนแบบกลับหัวในขณะที่ Freddie นอนคุยอยู่กับ Mary Austin และประทับใจกับเปียโนตัวนั้นมากมาย เพราะคีย์ของเปียโน จะมีสีตรงกันข้ามกับเปียโนปกติทั่วไป คีย์ขาวเปลี่ยนไปทาเป็นสีดำ และคีย์ดำทาด้วยสีขาว ดูแล้วแปลกตาดี

ฉากที่ทางวงเข้าไปคุยเกี่ยวกับการทำเพลงในอัลบั้มใหม่ของพวกเขากับผู้บริหารของ EMI ที่รับบทโดย Mike Myers (ผู้เคยทำให้บทเพลงอย่าง Bohemian Rhapsody เป็นที่จดจำสำหรับผู้ชมกับฉากที่เขาและเหล่าผองเพื่อนร้องเพลงนี้ขณะกำลังอยู่ในรถจากภาพยนตร์เรื่อง Wayne’s World) ก็เป็นอีกหนึ่งฉากโปรดของฉัน เพราะให้ความรู้สึกล้อเลียน เสียดสีเล็กๆ และติดใจกับลีลาการตบโต๊ะของ Rami ที่ได้จังหวะเหมาะเจาะกับเพลงโอเปราที่นำมาเปิดเพื่อโน้มน้าวใจอย่าง Habanera (นี่ก็เพลงโปรดของฉันเช่นเดียวกัน)

มีอยู่สองสามครั้งในขณะดูหนังที่ฉันเกิดอาการ “อิน” ราวกับตัวเองได้เข้าไปอยู่ในฉากเหล่านั้นด้วย รู้สึกทึ่งที่ได้เห็นว่ากว่า Bohemian Rhapsody จะกลายมาเป็นบทเพลงอมตะจนถึงทุกวันนี้ เพลงนี้ผ่านขั้นตอนการผลิตมาอย่างไร ได้ตื่นเต้นดีใจไปพร้อมกับสมาชิกทุกคนในวงเมื่อบทเพลงของพวกเขาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเหล่าแฟนเพลงทั่วโลก และได้ร่วมรับรู้ถึงความโดดเดี่ยวและความเหงาที่ Freddie ต้องเผชิญจนน้ำตาเกือบไหลตามไปกับเขาด้วย

น้ำตาของฉันได้ไหลออกมาจริงๆ ก็เมื่อตอนที่เรื่องเดินมาถึงฉากที่ทางวงไปร่วมแสดงในคอนเสิร์ต Live Aid ที่จัดขึ้นที่ Wembley Stadium ในปี 1985 ฉากนี้ทำให้ฉันชื่นชมทีมผู้สร้างภาพยนตร์เป็นอย่างมาก เพราะดูแล้วราวกับว่าภาพยนตร์ได้พาฉันย้อนกลับไป ณ ช่วงเวลานั้นจริงๆ

เมื่อทีมงานเปิดม่าน และ Rami ในบทบาท Freddie ได้เดินออกไปหากลุ่มผู้ชมมากมายพร้อมสมาชิกอีกสามคนในวงที่ต่างเข้าประจำที่ของตัวเองเพื่อเริ่มแสดงดนตรี ทันทีที่เสียงเปียโนจากเพลง Bohemian Rhapsody ขึ้นมา คนดูอย่างฉันก็ได้แต่ร้องเพลงตามไปพร้อมกับน้ำตาแห่งความปลาบปลื้มที่ไหลออกมาให้ต้องคอยซับออกเป็นระยะ

ฉากสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นภาพที่ทำให้ฉันตื้นตันและจำไม่รู้ลืมไปกับ Queen ในยามที่การแสดงดนตรีในเวลา 20 กว่านาทีของพวกเขาจบสิ้นลง เหล่าสมาชิกทั้งสี่คนได้พากันเดินออกมาที่หน้าเวทีเพื่อทำการขอบคุณบรรดาผู้ชมคอนเสิร์ต จากนั้นก็พากันเดินกลับเข้าด้านหลังเวที พร้อมกับเพลง Don’t Stop Me Now ที่ขึ้นมาเป็นเพลงอำลา น้ำตาของฉันก็ไหลออกมาอีกรอบด้วยความอิ่มเอมใจผสมปนไปกับความคิดถึง เหมือนดังเช่นตัวอย่างภาพยนตร์ได้บอกเอาไว้ว่า “Fearless Lives Forever”

Source
ภาพประกอบ: Photo by Lukas from Pexels

Comments